บริษัท เรเว่ ออโตโมทีฟ จำกัด จัดกิจกรรมทดสอบรถยนต์ไฟฟ้า BYD SEAL โดยเป็นการนำ 3 รุ่นย่อยที่จะวางจำหน่ายในประเทศไทยมาทดสอบในครั้งนี้ ได้แก่ รุ่น Dynamic , Premium และ AWD Performance บนเส้นทางไปกลับกรุงเทพฯ – เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา รวมระยะทางประมาณ 400 กิโลเมตร (มีคลิป => YOUTUBE)
สำหรับ BYD SEAL เป็นรถยนต์ไฟฟ้าพรีเมี่ยมสปอร์ตซีดาน ที่เรียกได้ว่าเป็น Flagship model ออกมาตอบโจทย์ลูกค้าที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ดูสปอร์ต หรูหรา ภายในห้องโดยสารกว้างขวางสะดวกสบาย และยังให้ความหรูหรา
การทดสอบรถยนต์ไฟฟ้า BYD SEAL ในครั้งนี้ ได้ทดสอบทั้ง 3 รุ่นย่อย โดยในช่วงแรกได้ BYD SEAL ในรุ่น Dynamic มาทดสอบก่อน จุดเริ่มต้นการเดินทางอยู่ที่ถนนเลียบด่วนรามอินทราซึ่งในช่วงเช้าของการเดินทางการจราจรถือว่าคับคั่งเป็นอย่างมาก แม้ว่า BYD SEAL จะอยู่ในกลุ่มเซ็กเม้นท์ D ตัวถังมีขนาดใหญ่ แต่ให้ความคล่องตัวในการขับขี่ในเมือง มุมมองในการขับขี่เห็นชัดรอบด้าน ในรุ่น Dynamic มอเตอร์ให้พละกำลังสูงประมาณ 201 แรงม้า แรงบิด 310 นิวตันเมตร ขับเคลื่อนล้อหลัง ให้อัตราการออกตัวหรือจังหวะเร่งแซงถือว่าทำได้ดี พวงมาลัยเป็นแบบไฟฟ้าให้ความแม่นยำ ระบบช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบปีกนกคู่ Double Wishbone ด้านหลังเป็นแบบมัลติลิงค์ ให้ความนิ่มนวลช่วยให้การเดินทางไม่เหนื่อยล้า
ขณะที่ในช่วงที่ 2 ได้สลับรถมาเป็นรุ่น AWD Performance ซึ่งเป็นรุ่นตัวท๊อป ที่ให้พละกำลังแรงสูงสุดโดยเป็นระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ มีมอเตอร์ 2 ตัวด้านหน้าและด้านหลัง ให้พละกำลังสูงถึง 522 แรงม้า แรงบิด 670 นิวตันเมตร ให้อัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงที่ 3.8 วินาที ซึ่งถือว่าให้พละกำลังที่แรงมาก สามารถเรียกพละกำลังออกมาใช้ได้ตลอดเวลา แต่ในรุ่น AWD Performance ระบบโช้คอัพเป็นแบบ Frequency Selective Damping (FSD) ที่สามารถปรับแรงดันวาล์วน้ำมันในกระบอกโช้คได้เองอัตโนมัติ ส่งผลช่วยให้การยึดเกาะถนนดีเยี่ยมแต่ต้องแลกด้วยความแข็งกระด้างเป็นอย่างมาก
ในช่วงที่ 3 ขากลับของการเดินทางทดสอบครั้งนี้เป็นรุ่น Premium ความรู้สึกกของการขับขี่มีความเหมือนกันกับรุ่น Dynamic เพราะเป็นมอเตอร์เดียวกันแต่ให้พละกำลังสูงกว่าที่ 308 แรงม้า แรงบิด 360 นิวตันเมตร ให้พละกำลังที่ดีกว่ารุ่น Dynamic เล็กน้อย แต่ระบบช่วงล่างเหมือกันให้ความนุ่มนวล
นอกจากนี้ในช่วงถึงเขาใหญ่ที่สนาม 8Speed ทาง BYD ได้จัดกิจกรรมลองสมรรถนะของรุ่น AWD Performance แบบพิเศษ โดยมีสถานีทดสอบอย่าง Lane Change , ขับเป็นวงกลม , Slalom และ ลองอัตราเร่ง ซึ่งเมื่อลองขับเข้าสถานี Lane Change เป็นการเปลี่ยนเลนกะทันหันด้วยความเร็วประมาณ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ตัวรถยังนิ่งไม่โยนตัวมาก และเมื่อลองขับเข้าสถานีวงกลมแล้วลองกดคันเร่งสุดเมื่อรถเริ่มเกิดอาการ Understeer ระบบจะทำการตัดพละกำลังของมอเตอร์ช่วยให้รถกลับมาขับขี่เป็นวงกลม ขณะที่สถานี Slalom เป็นการจำลองการขับขี่แบบซิกแซกไปมาเพื่อลองความคล่องตัวในตรอกซอกซอยขนาดเล็กซึ่งสามารถทำได้ดีพวงมาลัยแม่นยำ สุดท้ายมาที่สถานีลองอัตราเร่งลองกดคันเร่งโดยระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ไม่ทำให้อาการล้อฟรีให้เสียพละกำลังเลย
สรุปโดยรวม BYD SEAL เป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบซีดานขนาดใหญ่ ให้ความคล่องตัวในการขับขี่ทั้งในเมืองและนอกเมือง ในช่วงของการเป็นผู้ขับขี่ที่ชื่นชอบมากเป็นพิเศษน่าจะเป็นรุ่น Premium ให้พละกำลังพอดี ช่วงล่างนิ่มนวล ออปชั่นในการใช้งานมากกว่ารุ่น Dynamic ซึ่งอาจจะสู้ความแรงของรุ่น AWD Performance ไม่ได้ แต่ในรุ่น Premium ถือว่าเป็นรุ่นที่มีระยะทางการวิ่งไกลสูงสุดถึง 650 กิโลเมตร โดยมีความจุแบตเตอรี่อยู่ที่ 82.56 กิโลวัตต์ รุ่น Dynamic วิ่งได้ 510 กิโลเมตร ที่วิ่งได้น้อยเนื่องขนาดแบตเตอรี่เล็กเพียง 61.44 กิโลวัตต์ และรุ่น AWD Performance วิ่งได้ 580 กิโลเมตร มีความจุแบตเตอรี่ 82.56 กิโลวัตต์
และเมื่อลองมานั่งเป็นผู้โดยสารด้านหลังสิ่งที่ไม่ชอบ คือ หมอนรองคอยื่นออกมามากเกินไปทำให้นั่งพิงไปแล้วคอจะยื่นมาข้างหน้าส่งผลทำให้ช่วงการเดินทางที่ใช้เวลานานส่งผลทำให้ปวดคอเป็นอย่างมาก รวมถึงพื้นที่วางขาด้านหลังอาจจะดูกว้างแต่ถ้าคนนั่งเป็นคนตัวสูงเกิน 175 เซนติเมตรขึ้นไป เท้าจะไปติดกับเบาะนั่งด้านหน้า เนื่องจากใต้เบาะนั่งคู่หน้าจะไม่มีช่องให้เท้าสอดเข้าไปได้เพราะติดเรื่องของเป็นพื้นที่วางของแบตเตอรี่ แต่โดยรวม BYD SEAL นับเป็นรถยนต์ไฟฟ้าซีดานที่มีขนาดใหญ่ดูหรูหรา มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่กำลังมองหารถยนต์ไฟฟ้าเอาไว้ใช้งาน